ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปรอบเมืองเชียงราย เป็นขบวนแห่พระคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญๆ ของวัดต่างๆ ประดิษฐานบนบุษบกแห่ให้ประชาชนสักการะบูชาโปรยข้าวตอกดอกไม้ในบ่ายวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นศิริมงคลสำหรับเมืองเชียงราย ส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านไปและรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง แล้วตักบาตรในวันที่ 1 มกราคมตอนเช้ารับวันปีใหม่ ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการะบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย มาประดิษฐานบนบุษบกที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย จัดเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการะบูชาด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นสิริมงคลยิ่งนัก
ประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด (ตักบาตรเที่ยงคืน) ในครั้งอดีตเมื่อใกล้เวลาประมาณเที่ยงคืน ในคืนวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ จะมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ภายในเขตเทศบาลนครเชียงราย ตามถนนสายต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยรูป โดยเรียกวันดังกล่าวว่า "วันเป็งปุ๊ด" และมีประวัติ ความเป็นมาสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า พระมหาอุปคุตซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่มีมหาอิทธิฤทธิ์สามารถดลบันดาลโชคลาภวาสนาได้ออกจากการเข้าฌานสมาบัติที่ใต้สะดือทะเลแล้วแปลงกายเป็นสามเณรน้อยออกมาโปรดสัตว์โลกเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระมหาอุปคุตแล้วบุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้มีบุญ จะมีโชคลาภวาสนาร่ำรวยเป็นเศรษฐีและบังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งประเพณีการตักบาตรเที่ยงคืนวันเป็งปุ๊ด ถือเป็นประเพณีล้านนาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เพราะว่าแต่ละปีอาจมีวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ เพียงแค่ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งเท่านั้น หลายคนจึงเฝ้ารอที่จะมาทำบุญตักบาตรในวันดังกล่าว เทศบาลนครเชียงรายจึงได้จัดงานประเพณีตักบาตรวันเป็งปุ๊ดเพื่อให้คงอยู่คู่วัฒนธรรมล้านนาของชาวเชียงรายสืบไป
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ คือการทำบุญตักบาตร ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คำว่า เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การเสด็จลงจากเทวโลก ความเดิมมีว่าในพรรษาที่ 7 นับแต่วันตรัสรู้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา จนบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 แล้วจึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสะนคร ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง สถานที่นั้นก็มีเนินอันเดียวกันจนถึงอเวจีมหานรก ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีขณะที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ชาวเมืองจึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการใหญ่เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาถึง
3 เดือน การทำบุญตักบาตรในวันนั้นจึงได้ชื่อว่า ตักบาตรเทวโรหนะ
ต่อมามีการเรียกกร่อนไปเหลือเพียง ตักบาตรเทโว
เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นและเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่
เทศบาลนครเชียงรายจึงได้จัดงานประเพณี "ตักบาตรเทโว"
เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี
เทศกาลสงกรานต์ (ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง) กำหนดให้มีตั้งแต่วันที่ 13-16 เมษายน โดยการเนรมิตถนนเล่นน้ำกลางเมืองเชียงราย ภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขนทรายเข้าวัด สรงน้ำพ่อขุนเม็งรายมหาราช รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุแต่ละชุมชน ประกวดเทพีสงกรานต์ แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ขบวนแห่ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง บนถนนเล่นน้ำคือ ถนนธนาลัย จะใช้เป็นถนนเพื่อการเล่นน้ำตลอดทั้งสาย โดยเทศบาลได้ออกแบบอุโมงค์ที่มีสายน้ำใสสะอาดพุ่งออกมาจากทั้งสองฟากถนน รวมทั้งติดตั้งระบบน้ำพุ เพื่อสร้างสีสันบรรยากาศของความชุ่มฉ่ำของสายน้ำตลอดเทศกาล พร้อมกันนี้ได้จัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ และผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือและความเป็นสิริมงคลตามประเพณีที่ชาวล้านนาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา ตลอดทั้งเป็นการ่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีให้กับชนรุ่นหลัง
วันลอยกระทง
เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทยตามปฏิทินจันทรคติล้านนามักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน
ตามปฏิทินสุริยคติบางปีเทศกาลลอยกระทงก็จะมาตรงกับเดือนตุลาคมด้วย เช่นปีพ.ศ. 2544วันลอยกระทงปีนั้นตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมและจะมาตรงกันอีกครั้งในปีพ.ศ. 2563 ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคาบางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานทีและบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวกสำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำต่างๆ
ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
นอกจากนี้บางประเทศก็มีเทศกาลลอยกระทงด้วย เช่น
ประเทศลาวมักจะลอยกระทงในวันออกพรรษา(ขึ้น15ค่ำ เดือน11)ในงานไหลเฮือไฟของลาวประเทศกัมพูชา มีการลอยกระทง 2 ครั้ง คือลอยกระทงของหลวงกลางเดือน 11
ส่วนราษฎรทำกระทงเล็กและบรรจุอาหารไปด้วย ส่วนกลางเดือน 12 จะมีกระทงของหลวงเป็นกระทงใหญ่ราษฎรจะไม่ได้ทำและกระทงนี้จะมีอาหารบรรจุลงไปด้วยโดยมีคติว่าเพื่อส่งส่วนบุญไปให้เปรต
เทศกาลน้ำจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการแข่งเรือยาว การแสดงพุลดอกไม้ไฟ
จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน ประเทศเมียนมาร์ มีตำนานเหมือนกันว่า
สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางจึงไปขอให้พระอุปคุตช่วยเหลือพระอุปคุตจึงไปขอร้องพญานาคให้ช่วย
พญานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ แต่นั้นมาเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายจะทำพิธีลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพญานาค
ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ
"กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบานปักธูปเทียน
และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ
(ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย
งานตานหาพญามังราย เนื่องในวันที่ 26 มกราคม ของทุกปี จะเป็นวันคล้ายวันที่พญามังราย หรือ พ่อขุนเม็งรายมหาราช ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายไว้เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.1805 เทศบาลนครเชียงราย ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลสักการะดวงพระวิญญาณพ่อขุนเม็งรายมหาราชขึ้นในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ณ วัดดอยงำเมือง ในงานมีกิจกรรมทางศาสนาจัดพิธีกรรมแบบล้านนา ซึ่งประกอบไปด้วย พิธีสักการะบูชาพระสถูป การสืบชะตาเมือง การทำบุญเมือง และการจัดกิจกรรมสมโภชเมือง อาทิ การฟ้อนเล็บ การฟ้อนดาบ และการตีกลองสะบัดชัย เพื่อถวายแด่องค์พ่อขุนเม็งรายมหาราช อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และการเคารพต่อดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน โดยพี่น้องชาวเชียงราย และพี่น้องชุมชนในเขตเทศบาลจะเข้าร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ด้วยการนำพานพุ่ม หรือพานดอกไม้เครื่องบูชาสักการะ ถวายดวงพระวิญญาณพ่อขุนเม็งรายมหาราช เพื่อความร่มเย็นของเมืองเชียงรายและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย
งานปีใหม่เคาท์ดาวน์หอนาฬิกา มหกรรมงานวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ร่วมนับถอยหลัง(เค้าท์ดาวน์) เพื่อเข้าสู่ปีใหม่พร้อมกัน ณ บริเวณหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ ถนนบรรพปราการ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ภายในงานมีการเปิดการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การแสดงของวงดนตรี และสลับการแสดงของชุมชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากชุมชนและสถาบันการศึกษาในเขตเทศบาลฯ การแสดงกลองบูชาและกลองยาว การแสดงกลองสะบัดชัย โดยจุดนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีการจุดพลุเฉลิมฉลอง และการปล่อยโคมไฟเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว มีฉากหลังเป็นหอนาฬิกาที่สุดอลังการให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศได้ชื่นชมความงดงามโดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม เป็นต้นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น